Saturday, 27 July 2024

รู้จัก “Soft Power” ที่มีนิยามมากกว่าสื่อบันเทิง และค่านิยมของสังคม : PPTVHD36

[ad_1]

ทำความรู้จัก Soft Power หรือ “อำนาจละมุน” ที่มีนิยามมากกว่าค่านิยมของสังคม สื่อบันเทิง และวัฒนธรรม

จากกรณีที่ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่ออย่าง “ต้องเต ธิติ ศรีนวล” ออกมาเผยในรายการโทรทัศน์รายการหนึ่ง พร้อมกล่าวว่า “รู้สึกว่า อย่างรัฐบาลมองเห็น ฮึ้ย ถ้ามันมีเรื่องอื่นดีแล้วพาเขาไป คือให้มาซัพพอร์ตจริงๆ หน่อย ไม่ใช่แค่มาถ่ายรูป คุณอาจไม่ได้เข้าใจหนังสัปเหร่อจริงๆ เลยก็ได้ แค่มาถ่ายรูปแล้วบอกว่าหนังสัปเหร่อเป็นซอฟต์พาวเวอร์”

ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า แท้จริงแล้ว ความหมายของ Soft Power นอกจากจะหมายถึงค่านิยมของสังคม และวัฒนธรรมนั้น ๆ แล้ว ยังหมายถึงอะไรได้บ้าง?

ชูกระแส Soft Powerไทย ดึงดูดต่างชาติเที่ยวไทยทะลุเป้าหมาย 30 ล้านคน

Soft Power รถอีแต๋น 100 คัน บุก ไทยแลนด์ จีพี

รู้จัก Soft Power หรือ “อำนาจละมุน”

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักวิชาการ ได้ให้ความหมายภาษาไทยของ Soft Power ว่า “อำนาจละมุน” โดย Soft Power เป็นคำนิยามของแนวคิดเกี่ยวกับอำนาจในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่คิดโดย ศาสตราจารย์โจเซฟ ไนย์ (Joseph S. Nye) อาจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด สหรัฐอเมริกา โดยได้อธิบายไว้ว่า Soft Power หมายถึง ความสามารถในการชักจูงใจ ทำให้ผู้อื่นมีความพึงพอใจ หรือเต็มใจเปลี่ยนพฤติกรรม ยอมรับ คล้อยตามสิ่งที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้อำนาจ

โดยกลไกสำคัญในการใช้ Soft Power คือ การสร้างความดึงดูดใจต่อผู้อื่น และผลจากการใช้ Soft Power ต้องเกิดจากการดึงดูดใจที่ชักจูงให้คล้อยตาม โดยปราศจากการคุกคามหรือการแลกเปลี่ยนสิ่งใด ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามกับการใช้อำนาจแบบดั้งเดิม คือ อำนาจเชิงบังคับขู่เข็ญ หรือ Hard Power เช่น การใช้อำนาจทางการทหาร และการใช้อำนาจทางเศรษฐกิจซึ่งมุ่งคุกคามผู้อื่น

Soft Power อื่น ที่ไม่ใช่แค่ค่านิยมกับวัฒนธรรม

ชาวไทยมีความคุ้นเคยกับ Soft Power ในด้านค่านิยมและวัฒนธรรม โดยเฉพาะ Soft Power ของไทย เช่น ข้าวเหนียวมะม่วง ผ้าไทย ชุดไทย รำไทย มะม่วงน้ำปลาหวาน รวมถึงสื่อบันเทิงและภาพยนตร์ต่าง ๆ ส่วน Soft Power ของต่างประเทศ คนไทยก็มักจะนึกถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับกับค่านิยมและวัฒนธรรมเช่นกัน แต่หารู้ไม่ว่า Soft Power ยังมีมากกว่านั้น

ศาสตราจารย์โจเซฟ ไนย์ ระบุในหนังสือ Bound to Lead: The Changing Nature of American Power ว่า Soft Power หรืออำนาจละมุน สามารถแบ่งได้เป็น 3 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่

  1. วัฒนธรรม (Culture)
  2. ค่านิยม (Values)
  3. นโยบายต่างประเทศ (Foreign Policy)

ซึ่ง Soft Power ในด้านนโยบายต่างประเทศ อาจเป็นสิ่งใหม่ที่ใครหลายคนยังไม่ทราบ ว่าถือเป็น Soft Power ตามแนวคิดของ ศาสตราจารย์โจเซฟ ไนย์ อันหมายรวมไปถึงด้านการเมืองการปกครองและสภาพสังคมของชาตินั้น ๆ พร้อมยกตัวอย่าง Soft Power ด้านนโยบายต่างประเทศ เช่น ประเทศสิงคโปร์ เป็นประเทศผู้นำด้านการศึกษาและวิทยาศาสตร์แห่งเอเชีย

หรือประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากจะมี Soft Power ด้านภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดแล้ว ยังเป็นที่รู้จักในด้านความนิยมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และความเป็นประเทศโลกเสรี ส่วนประเทศญี่ปุ่นที่นอกจากจะมี Soft Power ด้านวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์แล้ว ยังเป็นชาติที่มี Soft Power ในเรื่องความเป็นชาตินิยม เป็นต้น

สรุปได้ว่า นอกจาก Soft Power หรือ “อำนาจละมุน” ที่เกี่ยวข้องกับด้านค่านิยมและวัฒนธรรม ซึ่งถือว่าเป็นจุดเด่นที่สามารถเห็นได้ชัดและใกล้ตัวพวกเราที่สุดแล้ว ยังมี Soft Power ในด้านนโยบายต่างประเทศ ที่แสดงถึงความเป็นชาติและการเมืองของประเทศนั้น ๆ ได้อย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน

เรียบเรียงจาก: นางสาวสุภาพิชญ์ ถิระวัฒน์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร / Thai Library / E-International Relations

ภาพจาก: Internet Archieve / Shutterstock / Jewel SAMAD – AFP

[ad_2]

Source link